กรมเจ้าท่าพัทยา ร่วมเมืองพัทยา จัดประชุมผู้ประกอบการเรือเร็ว หลังเกิดอุบัติเรือชนกัน 2 วันซ้อน

พัทยา-(28 เม.ย. 59) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ ห้องประชุมสำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นายเอกราช คันธโร ผอ.กรมเจ้าท่าสาขาพัทยา เป็นประธานในการประชุมผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวเพื่อวางมาตรการด้านความปลอดภัยทางทะเล หลังจากเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเจ็ทสกีกับเรือสปีดโบ๊ทชนกัน และในวันที่ 26 เม.ย.เกิดเรือสปีดโบ๊ท 2 ลำชนกันที่หาดตาแหวน แขวงเกาะล้าน เป็นเหตุให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทำให้เมืองพัทยาเสื่อมเสียด้านการท่องเที่ยว โดยมีนายสนิท บุญมาฉาย สมาชิกสภาเมืองพัทยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า , ตำรวจน้ำ , ตำรวจท่องเที่ยว , เจ้าหน้าที่เมืองพัทยา , ทหาร มทบ.14 และตัวแทนผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวในเมืองพัทยาและเกาะล้าน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

S__24158267

นายเอกราช คันธโร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมาได้มีการริเริ่มโครงการพัทยาโมเดล เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องด้านความปลอดภัยทางทะเลให้กับสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการไว้ 5 มาตรการ และได้ทำไปแล้ว 3 มาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ในส่วนของเหตุการณ์เจ็ทสกีชนกับเรือสปีดโบ๊ทเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเพราะผู้ควบคุมเรือทั้ง 2 ลำไม่ปฏิบัติตามกติกาเกี่ยวกับเรื่องความเร็วในการเข้าออกหาดตาแหวน นอกจากนี้เรื่องพื้นที่เข้าออกเรือก็เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันมีทั้งเรือสปีดโบ๊ทและเรือโดยสารขนาดใหญ่เดินทางจากฝั่งพัทยามาเกาะล้านไม่ต่ำกว่า 600 ลำต่อวัน แต่เส้นทางเข้าออกมีความยาวเพียง 300 เมตร และแนวทุนเกิดชำรุดไม่มีความชัดเจน ทำให้ทุกวันนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุอยู่ แต่ในปีงบประมาณ 2560 ทางกรมเจ้าท่าได้เสนอของบประมาณเร่งด่วนผ่านทาง ผวจ.ชลบุรี ไปยัง รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่ในช่วงนี้เราต้องช่วยตัวเองก่อน คงต้องเน้นย้ำและฝากไปถึงผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวในเรื่องของความเร็วจากจุดเริ่มต้นออกจากหาด จอให้ยึดมั่นคำสัญญาลูกผู้ชายที่เคยตกลงกันไว้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายใดๆ มากำหนด

S__24158253

ด้านนายสนิท บุญมาฉาย สมาชิกสภาเมืองพัทยา และประธานชมรมผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่า จุดเกิดเหตุเรือชนทั้ง 2 วันติดกัน เป็นหน้าที่ของเมืองพัทยาที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการ เพราะก่อนหน้านี้บริเวณหาดตาแหวนจะมีแนวทุ่นระบุตำแหน่งเส้นทางเข้าออกเรืออย่างชัดเจน แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีคลื่นลมแรงทำให้ทุ่นเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ถือเป็นความบกพร่องของเมืองพัทยาเพราะทุ่นเสียหายมานานนับเดือนแล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ไข หากยังมีทุ่นบอกตำแหน่งเหตุก็คงไม่เกิด และจะไปโทษผู้ประกอบการซะทีเดียวก็คงไม่ได้ เกี่ยวกับกรณีนี้จะได้นำเสนอไปยังนายกเมืองพัทยา เพื่อจัดหาทุ่นเก่ามาทำแนวเขตชั่วคราวจากฝั่งหาดตาแหวนยาวไปจนถึงหัวโขด หรือหาดตายาย ระยะทางประมาณ 700 เมตร โดยแบ่งช่องการจราจรอย่างชัดเจน เพื่อให้เรือที่เข้าออกหาด รวมถึงเรือที่มาส่งนักท่องเที่ยวดำน้ำ หรือซีลวอล์คเกอร์ ได้ทราบถึงเส้นทางการเดินเรือที่ถูกต้อง พร้อมกับของบเร่งด่วนในการจัดซื้อเชือกและสมอมาทำทุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาชั่วคราว

S__24158251

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทสรุปในที่ประชุมวันนี้มี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือการทำทุ่นเพื่อแบ่งเขตการจราจรทางน้ำชั่วคราว และการขอความร่วมมือผู้ประกอบการและคนขับเรือในเรื่องการใช้ความเร็วขณะเข้าออกฝั่งต้องไม่เกิน 2,000-2,500 รอบ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษปรับเป็นเงินจำนวน 5,000 บาททันที

ภาพ/ข่าว รุ่ง อินดี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น